กินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการกับช่วงสถานการณ์โควิด-19
กินอาหารให้ถูกหลักโภชนาการกับช่วงสถานการณ์โควิด-19
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำประชาชนกินให้ถูกหลักโภชนาการในช่วงโควิด-19 เน้นกินปริมาณพอเหมาะ ปรุงสุกใหม่ เลี่ยงกินสุก ๆ ดิบ ๆ และไม่กินอาหารร่วมกับผู้อื่น
ดร.แพทย์หญิงสายพิณ โขติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะนี้ ประชาชนส่วนใหญ่อยู่กับบ้าน หรือทำงานที่บ้านกันมากขึ้น จึงนิยมสั่งซื้ออาหารออนไลน์เพิ่มขึ้น ซึ่งในปี 2563 ที่ผ่านมา จากข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้สำรวจพฤติกรรมทางออนไลน์ เรื่อง “การใช้บริการ Online Food Delivery ของคนไทย” ระหว่างวันที่ 5 – 15 มีนาคม 2563 พบว่า มีผู้ใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์ถึงร้อยละ 85 และอาหารที่นิยมสั่งทางออนไลน์คืออาหารจำพวกฟาสต์ฟู้ดต่าง ๆ เช่น ไก่ทอด เบอร์เกอร์ พิซซ่า ร้อยละ 61 รองลงมาเป็นอาหารตามสั่งร้อยละ 47 และก๋วยเตี๋ยวหรืออาหารประเภทเส้น ร้อยละ 41 ส่วนอาหารสำเร็จรูปมีการสำรองกักตุนไว้ ร้อยละ 69
โดยอาหารแห้งที่ซื้อมากักตุนคือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น หมูหยอง หมูแผ่น หมูทุบ ปลากระป๋อง ขนมหวาน เช่น ช็อคโกแลต เค้กคุกกี้ และอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งตามลำดับ โดยอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดที่นิยมสั่งกันนั้น มักจะมีสารอาหารประเภทไขมันและโซเดียมสูง กินมากอาจสะสมเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนและเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด ตามมาได้
ดร.แพทย์หญิงสายพิณ กล่าวต่อไปว่า เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ ตามมา กรมอนามัยจึงแนะนำวิธีกินแบบพอเพียงช่วงโควิด–19 ดังนี้
1) กินพออิ่มในแต่ละมื้อ ตักอาหารปริมาณที่พอเหมาะไม่มากจนเกินไป
2) ดัดแปลงอาหารที่เหลือเป็นอาหารจานใหม่ เช่น ผัดคะน้า นำมาต้มจับฉ่ายผสมกับผักอื่น ๆ น้ำแกงส้มที่เหลือสามารถเติมผักเพิ่ม เช่น ถั่วฝักยาว มะละกอ แครอท ผักบุ้ง ส่วนผลไม้ที่เหลือหลายชนิดนำมาทำเป็นสลัดผลไม้
3) เรียนรู้วิธีการเก็บรักษาอาหารแต่ละประเภท เพื่อยืดอายุการใช้งานของวัตถุดิบต่าง ๆ
4) หุงข้าวผสมข้าวโพด ถั่ว เผือก มัน เพื่อเพิ่มวิตามินและยังได้สารอาหารอื่น ๆ ด้วย
5) เลือกวัตถุดิบคุณภาพดีราคาถูก ในการทำเมนูอาหาร เช่น อาหารประเภทเนื้อสัตว์ อาจใช้ ไข่ เต้าหู้ และถั่วเมล็ดแห้ง สลับเปลี่ยนหมุนเวียนกับเนื้อหมู ไก่ เลือกผักพื้นบ้าน ผลไม้ตามฤดูกาล
6) เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการของอาหารสำเร็จรูปให้มากขึ้น เช่น นำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาเพิ่มวัตถุดิบอาหารที่เสริมสร้างภูมิต้านทาน ผัก และสมุนไพร เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปผัดกระเพรา หรือต้มยำทรงเครื่อง ปลากระป๋องห่อไข่
7) ลดการกินจุบ กินจิบ กินอาหารให้เป็นเวลา
8) งดการกินอาหารมื้อดึก เพราะจะสะสมเป็นไขมันแทน ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้
9) เคี้ยวอาหารช้า ๆ จะทำให้รู้สึกอิ่มเร็วกว่าเพราะร่างกายคนเราจะเริ่มรู้สึกอิ่มเมื่อกินอาหารไปประมาณ 20 นาที
10) ไม่กินทิ้งขว้าง มีวินัยในการซื้อและการกินที่ดี
"ทั้งนี้ สำหรับการบริโภคอาหารของประชาชนในบางพื้นที่ที่ได้รับการช่วยเหลือจากการบริจาคขององค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน หากเป็นอาหารปรุงสำเร็จ ขอให้ผู้บริจาคเน้นย้ำสุขอนามัยในการปรุงประกอบอาหาร โดยให้เป็นอาหารที่ปรุงสุกอย่างทั่วถึง ส่วนในกรณีที่ผู้บริโภคที่ได้รับการช่วยเหลือเป็นอาหารแห้ง เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ควรนำมาปรุงให้สุกก่อนกิน โดยเทอาหารใส่จานของตนเอง และไม่กินอาหารร่วมกับผู้อื่น” ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กล่าว
ที่มา :
Panjawara Boonsrangsom (2564). เเนะช่วงโควิด กินให้ถูกหลักโภชนาการ เน้นปรุงสุก ไม่กินร่วมกับผู้อื่น, สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2564. จาก. https://www.thaihealth.or.th/Content/55056
- Admin WTU Website