อันตรายของคุณแม่ตั้งครรภ์เมื่อป่วย COVID-19
อันตรายของคุณแม่ตั้งครรภ์เมื่อป่วย COVID-19
การป่วย COVID-19 ของคุณแม่ตั้งครรภ์
สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์จึงต้องดูแลตัวเองและเจ้าตัวน้อยอย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำของแพทย์ เพราะหากคุณแม่ตั้งครรภ์ป่วยเป็น COVID-19 นอกจากจะมีอาการรุนแรงมากกว่าคนทั่วไปแล้วยังมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอีกด้วย
คุณแม่ตั้งครรภ์กับการป่วย COVID-19
-
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ COVID-19 มากกว่า 2 ใน 3 มักไม่แสดงอาการ
-
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ COVID-19 แล้วมีอาการรุนแรงมักมีภาวะอ้วน อายุมาก มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ ฯลฯ
-
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ COVID-19 มีโอกาสส่งต่อเชื้อไปยังลูก 2 – 5%
-
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ COVID-19 มีโอกาสทารกคลอดก่อนกำหนด 1%
ข้อมูล : กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
อาการคุณแม่ตั้งครรภ์ป่วย COVID-19
-
ไข้
-
ไอแห้ง ๆ
-
อ่อนเพลีย
-
หายใจติดขัด
-
เจ็บคอ
-
ท้องเสีย
รักษาคุณแม่ตั้งครรภ์ป่วย COVID-19
-
การให้สารน้ำ แก้ไขภาวะขาดสมดุลของเกลือแร่ ให้ออกซิเจน
-
การให้ยาต้านไวรัสในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง
-
การให้ยาปฏิชีวนะหากติดเชื้อแบคทีเรีย
-
การใช้เครื่องช่วยหายใจกรณีที่อาการรุนแรง ขึ้นอยู่กับการประเมินโดยแพทย์
ข้อจำกัดในการรักษาคุณแม่ตั้งครรภ์ป่วย COVID-19 คือ การใช้ยาบางชนิดที่อาจมีผลข้างเคียงและคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่สามารถนอนคว่ำเพื่อรับออกซิเจนให้เพียงพอ จึงอาจต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเพื่อเพิ่มระดับการให้ออกซิเจน
ความเสี่ยงเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ป่วย COVID-19
-
ครรภ์เป็นพิษ
-
คลอดก่อนกำหนด
-
เลือดแข็งตัวผิดปกติ
-
ทารกที่เกิดจากคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดและน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ
-
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์น้อยโอกาสที่ทารกจะได้รับเชื้อน้อยกว่าทารกในครรภ์ที่คุณแม่ใกล้คลอด
การฝากครรภ์ของคุณแม่ในช่วง COVID-19
ฝากครรภ์ช่วง COVID-19
คุณแม่ตั้งครรภ์ช่วง COVID-19 สามารถฝากครรภ์ได้ตามปกติ แต่ในคุณแม่ที่อายุครรภ์มากกว่า 32 สัปดาห์หรืออยู่ในกลุ่มครรภ์เสี่ยงสูง หรือมีโรคร่วมอย่างความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไทรอยด์ หัวใจ หอบหืด ปอดเรื้อรัง ไต ต้องดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด ได้แก่
-
ฝากครรภ์ตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง โดยนัดเวลาล่วงหน้าเพื่อให้ใช้เวลาที่โรงพยาบาลน้อยที่สุด
-
เลี่ยงการเดินทางโดยรถสาธารณะ
-
ผู้ติดตามที่ไปด้วยต้องไม่เกิน 1 คน
-
สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ออกนอกบ้าน
-
ล้างมือให้บ่อย พกเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ติดตัวตลอดเวลา
-
เว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 2 เมตรในทุกกิจกรรม
-
กลับถึงบ้านล้างมือ ถอดหน้ากากทิ้งทันที เปลี่ยนเสื้อผ้า
-
สังเกตความผิดปกติของการตั้งครรภ์ เช่น บวม ลูกดิ้นน้อยลง มีเลือดออกทางช่องคลอด เจ็บครรภ์ น้ำเดิน หากมีอาการรีบพบแพทย์ทันที
-
ในช่วง 3 – 6 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ หากไม่มีการตรวจพิเศษอื่น ๆ อาจเลื่อนนัดได้ตามสถานการณ์
คุณแม่ป่วย COVID-19 กับการให้นม
จากข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการในการแพร่เชื้อไวรัสผ่านทางน้ำนม ดังนั้นทารกสามารถกินนมแม่ได้ แต่ต้องปฏิบัติตามแนวทางป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด
-
คุณแม่ที่สงสัยว่าติดเชื้อ COVID-19 หรือคุณแม่ที่ติดเชื้อ COVID-19 แต่มีอาการไม่มาก สามารถกอดลูก ให้นมลูกได้ โดยสวมหน้ากากอนามัยและล้างมือให้บ่อย
-
คุณแม่ติดเชื้อ COVID-19 ที่มีอาการรุนแรง ได้รับยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) และดารุนาเวียร์ (Darunavir) ไม่ควรให้นมลูก
คุณแม่ตั้งครรภ์จำเป็นจะต้องดูแลตัวเองให้ดีที่สุดพบแพทย์ตามนัดหมายฉีดวัคซีน COVID-19 เมื่ออายุครรภ์ครบ 3 เดือนหรือ 12 สัปดาห์ตามคำแนะนำของแพทย์ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือให้บ่อย เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19 ที่สำคัญดูแลสุขภาพใจให้แข็งแรง ไม่เครียดหรือวิตกกังวลจนเกินไป รับฟังข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และหากคุณแม่ตั้งครรภ์ป่วยเป็น COVID-19 จะต้องเข้าระบบการรักษาโดยเร็วที่สุด
ที่มา :
Bangkok Hospital(2564).
อันตรายแค่ไหนเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ป่วย COVID-19,
สืบค้นเมื่อ 5 กันยายน 2564. จาก. https://www.bangkokhospital.com/content/when-pregnant-mothers-are-sick-with-covid-19
- Admin WTU Website