ฟ้าทะลายโจร เพื่อชีวิต ในยุคที่โควิด-19 ระบาด

RSS
ฟ้าทะลายโจร เพื่อชีวิต ในยุคที่โควิด-19 ระบาด

ผศ.ดร.ภญ.วริมา วงศ์พาณิชย์

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น

 

“พรุ่งนี้หรือชาติหน้า ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะมาก่อน”  

ข้อความข้างต้น ผู้เขียนได้ยินเป็นครั้งแรกจากผู้นิพนธ์หนังสือเล่มเล็กๆ ที่มีชื่อเช่นเดียวกันนี้

หลังจากกราบบูชาพระคุณครูบาอาจารย์อันเป็นที่เคารพแล้ว จึงเริ่มลงมือเขียนค่ะ

ผ่านมาถึงขณะนี้ ความเป็นมาเป็นไปของโรคโควิด-19 ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อก่อโรคชนิดใหม่ SARS-CoV-2 คงเป็นที่ทราบกันพอสังเขปแล้วนะคะ  ขอข้ามไปสู่การใช้ยารายการหนึ่ง คือ ฟ้าทะลายโจร ซึ่งระบุไว้เป็นแนวทางในการรักษาผู้ป่วยฯ ที่ มีอาการไม่รุนแรง รวมทั้งผู้ตรวจพบเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ ในแง่ของรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นหลักค่ะ  

ฟ้าทะลายโจร เป็นพืชล้มลุก ส่วนต่างๆ มีรสขม กระจายพันธุ์ได้ดีในเขตพื้นที่ร้อน/ร้อนชื้น  จัดเป็นพืชยาที่มีรสเย็น ใช้ลดไข้ที่มีธาตุไฟกำเริบ บรรเทาการไอและเจ็บคอได้ดี  พบสารพฤกษเคมีในกลุ่มแลคโตน ที่สำคัญทางยา คือ กลุ่มสารแอนโดรกราโฟไลด์ (ได้แก่แอนโดรกราโฟไลด์, นีโอแอนโดรกราโฟไลด์, และ
14-ดีอ๊อกซี่แอนโดรกราโฟไลด์) ซึ่งจะมีปริมาณสูงในช่วงที่พืชเริ่มมีดอกไปจนถึงระยะดอกบานไม่เกินร้อยละ 50  หรือระยะเวลา 3-5 เดือนโดยเฉลี่ยของอายุพืช


การใช้ฟ้าทะลายโจรเป็นยา พัฒนาจากการใช้ในลักษณะสมุนไพรสดหรือแห้ง เช่น รับประทานใบสด วันละ 2-3 ใบ ติดต่อกันในช่วงฤดูหนาว เป็นยาขมช่วยเจริญอาหาร และช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย  เป็นรูปแบบผลิตภัณฑ์ยาแคปซูล สมุนไพรฟ้าทะลายโจร ที่นำส่วนเหนือดินมาทำให้แห้งบดเป็นผง โดยมีขนาดบรรจุที่ระบุตามกำหนดในตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย คือ 250, 300, 350, และ 500 มิลลิกรัมต่อหนึ่งแคปซูล และมีการระบุสารสำคัญเป็นปริมาณโดยรวมของแลคโตน และ/หรือ/เทียบเป็นแอนโดรกราโฟไลด์ไว้  

ฟ้าทะลายโจรได้รับการบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (บัญชียาจากสมุนไพร) กระทรวงสาธารณสุข ในรูปแบบยาเดี่ยว เพื่อใช้บรรเทาอาการไข้หวัด แก้ไอและเจ็บคอ ทำให้มีการพัฒนารูปแบบให้เป็นมาตรฐานยิ่งขึ้น รวมทั้งกำหนดให้มีการระบุคำเตือน บนบรรจุภัณฑ์ ฉลาก หรือเอกสารกำกับยา

            ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19  ได้มีการนำยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรมาใช้  และการเพิ่มเติมข้อบ่งใช้เพื่อรักษาโรคโควิด-19  ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ฉบับที่ 2 ต้นเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา ดังนี้

  1. ยาสารสกัดผงฟ้าทะลายโจร ที่มี andrographolide ไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 โดยน้ำหนัก (w/w) รูปแบบยา: ยาแคปซูล, ยาเม็ด ใช้สำหรับบรรเทาอาการของโรคหวัด (common cold) เช่น ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล มีไข้ โดยรับประทานในขนาดยาที่มีปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ 60 - 120 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งให้วันละ 3 ครั้ง
  2. ยาสารสกัดจากฟ้าทะลายโจร ในรูปแบบยาแคปซูล, ยาเม็ด เฉพาะผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่มีการควบคุมปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ ใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่มีความรุนแรงน้อย เพื่อลดการเกิดโรคที่รุนแรง (สั่งจ่ายโดยแพทย์เวชกรรม เนื่องจากโรคโควิด 19 ต้องได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์) โดยรับประทานในขนาดยาที่มีปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ 180 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง  ทั้งนี้ให้มีการติดตามประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยหลังการใช้อย่างเป็นระบบ
  3. ยาจากผงฟ้าทะลายโจร ในรูปแบบยาแคปซูล, ยาเม็ด เงื่อนไขเช่นเดียวกับกรณีที่ 2 คือ เฉพาะผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่มีการควบคุมปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ ใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด 19 ที่มีความรุนแรงน้อย เพื่อลดการเกิดโรคที่รุนแรง (สั่งใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เนื่องจากโรคโควิด 19 ต้องได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์) โดยรับประทานในขนาดยาที่มีปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ 180 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง ทั้งนี้ให้มีการติดตามประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยหลังการใช้อย่างเป็นระบบ 

*ข้อสังเกต การใช้ยาจากผงฟ้าทะลายโจร (ตามบัญชียาหลักฯ ฉบับแรก) และยาสารสกัดฯ (เพิ่มเติมในบัญชียาหลักฯ ฉบับที่ 2) มีลักษณะเป็นยาสามัญประจำบ้าน ในขณะที่การใช้ในกรณีโควิด-19 มีการกำกับดูแล เนื่องจากเป็นกรณีฉุกเฉิน และมี ข น า ด ใ ช้ ที่ สู ง ขึ้ น จากกรณีแรก 

ตัวอย่างอินโฟกราฟิก สรุปการใช้ฟ้าทะลายโจรจากสถาบันการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร

ตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ ที่แสดงฉลาก/เอกสารกำกับยา ระบุเลขทะเบียนยา (ที่ตรวจสอบได้) ขนาดบรรจุ ข้อบ่งใช้ ขนาดใช้ที่สอดคล้องกับข้อบ่งใช้ และวันที่ผลิต/วันหมดอายุ

 

            อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ฉุกเฉินจากการระบาดที่รุนแรงขึ้นของโควิด-19 ทำให้มีความขาดแคลนในเวชภัณฑ์ที่ใช้  ในขณะที่ความต้องการฟ้าทะลายโจรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  สวนทางกับปริมาณและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด และส่วนใหญ่ผู้บริโภคต้องพิจารณาใช้โดยไม่สามารถรอคำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างทันท่วงที หรือเต็มรูปแบบ  ข้อแนะนำในการพิจารณาผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย ทั้งในแง่ของการได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐ ในแง่ของความแตกต่างของขนาดตัวยาทั้งในรูปสารสกัดและในรูปผงยา ขนาดใช้ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และปริมาณที่ระบุไว้ของแต่ละผลิตภัณฑ์ (ดังแสดงไว้ในตารางที่แนบ) จึงเป็นความรู้พื้นฐานที่สำคัญในสถานการณ์นี้

นอกจากนี้ประเด็นที่ควรให้ความสนใจ คือ คำเตือนที่เป็นข้อห้าม และ/หรือข้อควรระวัง อาทิ การใช้ในสตรีมีครรภ์ และให้นมบุตร ผู้ใช้ที่มีโรคประจำตัว หรือใช้ยาบางชนิดที่ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อนใช้  เช่นในกรณีผู้ป่วยตับอักเสบ ซึ่งข้อควรระวังนี้ทำให้มีความเข้าใจว่า ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรมีพิษต่อตับ  ซึ่งก็น่าจะเป็นข้อควรระวังที่ดี หากแต่เมื่อมีการใช้อย่างถูกต้องภายใต้คำแนะนำ ติดตามอย่างระมัดระวัง ก็จะทำให้ได้รับประสิทธิผลอย่างเต็มที่ตามสมควรกับสภาพสถานการณ์ค่ะ  

โดยบทบาทวิชาชีพ เภสัชกรเป็นบุคลกรที่มีหน้าที่โดยตรงในกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องด้วยอาหาร ยา และเวชภัณฑ์ การปฏิบัติงานให้คำปรึกษาแนะนำในชุมชนนับเป็นหนึ่งในการให้บริการแก่ผู้บริโภค  ทั้งนี้ร้านยาของมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น เป็นส่วนหนึ่งที่ทำหน้าที่ให้บริการชุมชน ดำเนินการโดย คณะเภสัชศาสตร์ มีอาจารย์เภสัชกรประจำ กำกับดูแลและให้คำแนะนำปรึกษา มีความยินดีให้บริการทั้งแก่บุคลากรของหน่วยงาน นิสิตและประชาชนทั่วไป ปรึกษาเภสัชกรประจำร้านยาทุกร้าน และที่ ร้านยามหาวิทยาลัยเวสเทิร์น เพื่อการใช้ยาได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ปลอดภัยและเกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้ยาได้นะคะ  ร้านยามหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 88 โครงการ The Grove ม.11 ถนนหทัยราษฎร์ ต.ลาดสวาย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี 12150  โทร 02-101 3149 ไอดีไลน์: wtudrugstore เวลาเปิดทำการ 11:00-20:.00 น. ทุกวัน

หวังว่าทุกท่านจะมีวันพรุ่งนี้ที่ดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากโรค ปลอดภัยและได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้ยา และมีโอกาสกลับสู่สถานการณ์ปกติร่วมกันนะคะ

                                                                                    21 กรกฏาคม 2564

 

ส่วนหนึ่งของข้อมูลจากไลน์กลุ่มฯ ที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว

บรรณานุกรม

  1. https://www.cri.or.th/en/articles/php. (29 กค 2552). เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ”ฟ้าทะลายโจร” สืบค้นเมื่อ 7/19/2564.
  2. https://www.cri.or.th/en/articles/20210714.php. (15 กค 2564). ฟ้าทะลายโจรมีผลข้างเคียงต่อตับหรือไม่? สืบค้นเมื่อ 7/19/2564.
  3. Suriyo T, Pholphana N, Ungtrakul T, Rangkadilok N, Panomvana D, Thiantanawat A, Pongpun W, Satayavivad J. (2017). Clinical parameters following multiple oral dose administration of a standardized Andrographis paniculata capsule in healthy Thai subjects. Planta Med. 83(9):778-789. DOI: 10.1055/s-0043-104382.
  4. http://healthydee.moph.go.th/view_article.php?id= (5 กค 2564). การใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษาโรคโควิด-19 ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ. สืบค้นเมื่อ 7/19/2564.
  5. https://www.hfocus.org/content/2021/07/22203. (10 กค 2564) อภัยภูเบศร ออกคำแนะนำการใช้ฟ้าทะลายโจรในช่วงการระบาดของโควิด-19. สืบค้นเมื่อ 7/19/2564.
  6. https://bdn.go.th/thp/ebook/nGu4A3OCoG93qRkhoJIaqUEhnJ94LjWewEb3QWewEb3Q. (2019, 2020). ตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย (Thai Herbal Pharmacopoeia): ฟ้าทะลาย (Fa Thalai). หน้า 112-121. สืบค้นเมื่อ 7/20/2564.
  7. https://bdn.go.th/thp//ebook/nGI4AaOCoG93qRkhoJIaqUEhnJ94LjWewEb3QWewEb3Q. (2019). ตำรามาตรฐานยาสมุนไพรไทย (Thai Herbal Pharmacopoeia): ยาแค็ปซูลฟ้าทะลาย (Fa Thalai Capsules). หน้า 122-123. สืบค้นเมื่อ 7/20/2564.

โพสต์ก่อนหน้า โพสต์ถัดไป

  • Admin WTU Website